วันอาทิตย์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

วงดนตรีไทย

วงดนตรีไทย

สมัยสุโขทัย

        วงดนตรีไทย ในสมัยสุโขทัย มีดังนี้ คือ
         1. วงบรรเลงพิณ มีผู้บรรเลง 1 คน ทำหน้าที่ดีดพิณและขับร้องไปด้วย เป็นลักษณะของการขับลำนำ
         2. วงขับไม้ ประกอบด้วยผู้บรรเลง 3 คน คือ คนขับลำนำ 1 คน คนสี ซอสามสาย คลอเสียงร้อง 1 คน และ คนไกว บัณเฑาะว์ ให้จังหวะ 1 คน
3. วงปี่พาทย์ เป็นลักษณะของวงปี่พาทย์เครื่องห้า มี 2 ชนิด คือ
         -วงปี่พาทย์เครื่องห้าอย่างเบา ประกอบด้วยเครื่องดนตรีชนิดเล็ก ๆ จำนวน 5 ชิ้น คือ ปี่  กลองชาตรี  ทับ (โทน) ฆ้องคู่ และ ฉิ่ง ใช้บรรเลงประกอบการแสดง ละครชาตรี (เป็นละครเก่าแก่ที่สุดของไทย)
         -วงปี่พาทย์เครื่องห้าอย่างหนัก ประกอบด้วย เครื่องดนตรีจำนวน 5 ชิ้น คือ ปี่ใน ฆ้องวง (ใหญ่)  ตะโพน กลองทัด และ ฉิ่ง ใช้บรรเลงประโคมในงานพิธีและบรรเลงประกอบ การแสดงมหรสพ ต่าง ๆ จะเห็นว่า วงปี่พาทย์เครื่องห้า ในสมัยนี้ยังไม่มีระนาดเอก
         4. วงเครื่องประโคม ใช้เฉพาะในงานพระราชพิธี มี 2 ชนิด คือ
             -ประโคมแตร ใช้เวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกขุนนาง ถึงในงานพระราชพิธี และเสด็จพระราชดำเนินกลับ
             -ประโคมแตรสังข์ กลองชนะ ใช้ในการเสด็จพระราชดำเนิน กระบวนพยุหยาตรา และขบวนพระราชพิธีต่างๆ
5. วงมโหรี เป็นลักษณะของวงดนตรีอีกแบบหนึ่ง ที่นำเอา วงบรรเลงพิณ กับ วงขับไม้ มาผสมกัน เป็นลักษณะของ วงมโหรีเครื่องสี่ เพราะประกอบด้วยผู้บรรเลง 4 คน คือ 1. คนขับลำนำและตี กรับพวง ให้จังหวะ 2. คนสี ซอสามสาย คลอเสียงร้อง 3. คนดีดพิณ และ 4. คนตีทับ (โทน) ควบคุมจังหวะ

สมัยกรุงศรีอยุธยา

                มีการแบ่งแยกการรวมวงเป็น 4 แบบ คือ วงขับไม้ วงเครื่องสาย วงมโหรี มีการเพิ่มรำมะนา และขลุ่ยมาร่วมด้วย เรียกว่า วงมโหรีเครื่องหก ซึ่งใช้ผู้หญิงบรรเลง วงปี่พาทย์(เครื่องห้า) มีทั้งวงปี่พาทย์อย่างเบา และอย่างหนัก แต่ภายหลังเหลือเพียงวงปี่พาทย์อย่างหนัก และเพิ่มกลองแขก ซึ่งรับมาจากชวามาใช้ด้วย ซึ่งในสมัยอยุธยา มีเครื่องดนตรีเกือบครบทุกชนิด เช่น ซอด้วง ซออู้ จะเข้

สมัยกรุงธนบุรี

         เนื่องจากในสมัยนี้เป็นช่วงระยะเวลาอันสั้นเพียงแค่ 15 ปี และประกอบกับ เป็นสมัยแห่งการก่อร่างสร้างเมือง และการป้องกันประเทศเสียโดยมาก วงดนตรีไทย ในสมัยนี้จึงไม่ปรากฎหลักฐานไว้ว่า ได้มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงขึ้น สันนิษฐานว่า ยังคงเป็นลักษณะและรูปแบบของ ดนตรีไทย ในสมัยกรุงศรีอยุธยานั่นเอง

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

         การพัฒนา เปลี่ยนแปลงของ ดนตรีไทย ในสมัยนี้ก็คือ ได้มีการนำเอา วงปี่พาทย์มาบรรเลง ประกอบการขับเสภา เป็นครั้งแรก นอกจากนี้ ยังมีกลองชนิดหนึ่งเกิดขึ้น โดยดัดแปลงจาก "เปิงมาง" ของมอญ ต่อมาเรียกกลองชนิดนี้ว่า "สองหน้า" ใช้ตีกำกับจังหวะแทนเสียงตะโพนในวงปี่พาทย์ ประกอบการขับเสภา เนื่องจากเห็นว่าตะโพนดังเกินไป จนกระทั่งกลบเสียงขับ กลองสองหน้านี้ ปัจจุบันนิยมใช้ตีกำกับจังหวะหน้าทับ ในวงปี่พาทย์ไม้แข็ง
        สมัยรัชกาลที่ 1 มีการเพิ่มกลองทัด 1 ลูก ในวงปี่พาทย์รวมเป็น 2 ลูก (ตัวผู้ และตัวเมีย) และใช้มาจนถึงปัจจุบัน
                สมัยรัชกาลที่ 2 มีการเปลี่ยนแปลงการบรรเลงปี่พาทย์ โดยงดตะโพน และกลองทัด เปลี่ยนมาใช้กลองสองหน้าแทน เรียกว่า “วงปี่พาทย์เสภา” ซึ่งในสมัยปัจจุบันได้นิยมบรรเลงกัน และเรียกว่า “วงปี่พาทย์ไม้แข็ง”
สมัยรัชกาลที่ 3 วงปี่พาทย์ได้พัฒนาขึ้นเป็นวงปี่พาทย์เครื่องคู่ เพราะได้มีการประดิษฐ์ระนาดทุ้ม มาคู่กับระนาดเอก และประดิษฐ์ฆ้องวงเล็กมาคู่กับ ฆ้องวงใหญ่
                สมัยรัชกาลที่ 4 มีการเพิ่มเครื่องดนตรีเข้าในวงปี่พาทย์เครื่องคู่อีก 2 ชนิด คือ ระนาดเอกเหล็ก และระนาดทุ้มเหล็ก โดยเรียกว่า “วงปี่พาทย์เครื่องใหญ่”
                สมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการปรับปรุงวงดนตรีขึ้นใหม่ เรียกว่า “วงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์”
                สมัยรัชกาลที่ 6 มีการปรับปรุงวงปี่พาทย์มอญขึ้นใช้ในงานศพ โดยครูหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปะบรรเลง) ได้ไปเรียนเพลงมอญมาจากครูสุ่ม (มอญ) และปรับปรุงวงขึ้นใหม่ โดยใช้เครื่องปี่พาทย์ของไทยผสมกับของมอญ จนเกิดเป็นวงปี่พาทย์มอญเครื่องห้า เครื่องคู่และเครื่องใหญ่
                เครื่องดนตรีต่างชาติที่เข้ามาประสมกับเครื่องดนตรีไทย และเกิดเป็นวงดนตรีไทย ได้แก่ ขิม
  ดนตรีไทยมักเล่นเป็นวงดนตรี มีการแบ่งตามประเภทของการบรรเลงที่เป็นระเบียบมาแต่โบราณกาลจนถึงปัจจุบันเป็น 3 ประเภท คือ

วงปี่พาทย์

         ประกอบด้วยเครื่องตีเป็นสำคัญ เช่น ฆ้อง กลอง และมีเครื่องเป่าเป็นประธานได้แก่ ปี่ นอกจากนั้นเป็นเครื่อง วงปี่พาทย์ยังแบ่งไปได้อีกคือ วงปี่พาทย์ชาตรี,วงปี่พาทย์ไม้แข็ง,วงปี่พาทย์เครื่องห้า,วงปี่พาทย์เครื่องคู่,วงปี่พาทย์เครื่องใหญ่,วงปี่พาทย์ไม้นวม,วงปี่พาทย์มอญ,วงปี่พาทย์นางหงส์

วงปี่พาทย์ มี 8 แบบ คือ
       1.วงปี่พาทย์เครื่องห้า วงปี่พาทย์เครื่องห้า เป็นวงปี่พาทย์ที่เป็นวงหลัก มีจำนวนเครื่องดนตรีน้อยชิ้นที่สุด
       

2.วงปี่พาทย์เครื่องคู่ เป็นวงปี่พาทย์ที่ประกอบด้วยเครื่องทำทำนองเป็นคู่ เนื่องด้วยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีผู้คิดเครื่องดนตรีเพิ่มขึ้นอีก 2 อย่าง คือ ระนาดทุ้มกับฆ้องวงเล็ก และนำเอาปี่นอกซึ่งใช้ในการบรรเลงปี่พาทย์สำหรับการแสดงหนังใหญ่สมัยโบราณมารวมเข้ากับวงปี่พาทย์เครื่องห้าที่มีอยู่เดิม



         3.วงปี่พาทย์เครื่องใหญ่ คือ วงปี่พาทย์เครื่องคู่ที่เพิ่มระนาดเอกเหล็กกับระนาดทุ้มเหล็ก ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประดิษฐ์ขึ้น กลายเป็นวงปี่พาทย์ที่มีระนาด 4 ราง โดยตั้งระนาดเอกเหล็กที่ริมด้านขวามือและตั้งระนาดทุ้มเหล็กที่ริมด้านซ้ายมือ ซึ่งนักดนตรีนิยมเรียกกันว่า "เพิ่มหัวท้าย" วงปี่พาทย์เครื่องใหญ่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวบางวงก็เพิ่มกลองทัด รวมเป็น 3 ใบบ้าง 4 ใบบ้าง ส่วนฉาบใหญ่นำมาใช้ในวงปี่พาทย์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

4.วงปี่พาทย์นางหงส์ คือ วงปี่พาทย์ธรรมดาซึ่งใช้บรรเลงทั่วไป แต่เมื่อนำมาใช้ประโคมในงานศพ จะนำวงบัวลอยซึ่งประกอบด้วยปี่ชวา 1 เลา กลองมลายู 1 คู่ และเหม่ง 1ใบ ที่ใช้ประโคมในงานศพเข้ามาผสม โดยตัดปี่ใน ตะโพน และกลองทัดออก ใช้ปี่ชวาแทนปี่ใน ใช้กลองมลายูแทนตะโพนและกลองทัด ส่วนเหม่งนั้นมีเสียงไม่เหมาะกับวงปี่พาทย์จึงไม่นำมาใช้ ใช้แต่โหม่งซึ่งมีอยู่เดิม เรียกว่า "วงปี่พาทย์นางหงส์"


5.วงปี่พาทย์มอญ ประกอบด้วยเครื่องดนตรีที่ได้อิทธิพลมาจากมอญ เช่น ฆ้องมอญ ปี่มอญ ตะโพนมอญ และเปิงมางคอก ปัจจุบันวงปี่พาทย์มอญมี 3 ขนาด ได้แก่
      5.1วงปี่พาทย์มอญเครื่องห้า ประกอบด้วยปี่มอญ ระนาดเอก ฆ้องมอญ ตะโพนมอญ เปิงมางคอก และเครื่องกำกับจังหวะ ได้แก่ ฉิ่ง ฉาบ โหม่ง
 
      5.2วงปี่พาทย์มอญเครื่องคู่ มีลักษณะเดียวกับวงปี่พาทย์มอญเครื่องห้า แต่เพิ่มระนาดทุ้มและฆ้องมอญวงเล็ก
       



      5.3วงปี่พาทย์มอญเครื่องใหญ่ มีลักษณะเดียวกับวงปี่พาทย์มอญเครื่องคู่ แต่เพิ่ม ระนาดเอกเหล็กและระนาดทุ้มเหล็ก
 
       6.วงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ คือ วงปี่พาทย์ประสมชนิดหนึ่ง มีต้นเค้าสืบเนื่องมาจากละครดึกดำบรรพ์ ซึ่งเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ (ม.ร.ว.หลาน กุญชร) และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ร่วมกันปรับปรุงขึ้นโดยอาศัยแนวอุปรากรของตะวันตกเข้าประกอบ ละครนี้ได้ชื่อตามโรงละคร ซึ่งเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ตั้งชื่อว่า "โรงละครดึกดำบรรพ์" ละครก็เรียกว่า "ละครดึกดำบรรพ์" ด้วย วงปี่พาทย์ที่บรรเลงในการเล่นละครนี้จึงมีชื่อว่า "ปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์" สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้ทรงคัดเลือกเครื่องดนตรีที่มีเสียงทุ้มนุ่มนวลประสมเข้าด้วยกันให้เหมาะสมกับการแสดงละครดึกดำบรรพ์

 7.วงปี่พาทย์ไม้นวม คือ วงปี่พาทย์ที่ใช้ไม้ตีระนาดเอกเปลี่ยนจากไม้แข็งเป็นไม้นวมคือ ไม้ตีจะพันผ้าและด้ายรัดหลายๆ รอบจนแน่น เมื่อใช้ตีจะมีเสียงนุ่มนวลเพิ่มซออู้อีก 1 คัน และใช้ขลุ่ยเพียงออแทนปี่ บางโอกาสอาจใช้กลองแขกตีเป็นเครื่องกำกับจังหวะ

  
  
8.
วงปี่พาทย์เสภา คือ วงปี่พาทย์ซึ่งใช้กลองสองหน้าทำจังหวะหน้าทับแทนตะโพนและกลองทัด เริ่มนำมาบรรเลงร่วมกับการเล่นเสภาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

  

วงเครื่องสาย

         เครื่องสาย ได้แก่ เครื่องดนตรี ที่ประกอบด้วยเครื่องดนตรีที่มีสายเป็นประธาน มีเครื่องเป่า และเครื่องตี เป็นส่วนประกอบ ได้แก่ ซอด้วง ซออู้ จะเข้ เป็นต้น ปัจจุบันวงเครื่องสายมี 4 แบบ คือ วงเครื่องสายไทยเครื่องเดี่ยว,วงเครื่องสายไทยเครื่องคู่,วงเครื่องสายผสม,วงเครื่องสายปี่ชวk
1.วงเครื่องสายไทยเครื่องเดี่ยว ประกอบด้วยเครื่องดนตรีในตระกูลเครื่องสายและเป่า อย่างละหนึ่ง

                

2.วงเครื่องสายไทยเครื่องคู่ ประกอบด้วย เครื่องดนตรีที่อยู่ในวงเครื่องสายเครื่องเดี่ยวเป็นหลัก โดยเพิ่ม  จำนวนของเครื่องดนตรีจากหนึ่งเป็นสองหรือเป็นคู่


3.วงเครื่องสายผสม  เป็นวงดนตรีที่ประกอบด้วยเครื่องดนตรีอย่างที่สังกัดในวงเครื่องสายไทย เพียงแต่
พิ่มเอาเครื่องดนตรีที่อยู่นอกเหนือจากวงเครื่องสายไทย หรืออาจจะเป็นเครื่องดนตรีพื้นเมือง หรือเครื่องดนตรีของต่างชาติ
ก็ได้ มาบรรเลงร่วมด้วย  ซึ่งเครื่องดนตรีที่นำมาผสมนั้นต้องโดยคำนึงถึงลักษณะของเสียงด้วยว่ามีความกลมกลืนมาก
น้อยเพียงใด
  

4.วงเครื่องสายปี่ชวา  ประกอบด้วยเครื่องดนตรีในวงเครื่องสายไทยเป็นหลัก และนำเอาปี่ชวามาบรรเลง
แทนขลุ่ยเพียงออ คงไว้แต่เพียงขลุ่ยหลิบ ซึ่งมีเสียงสูง และเปลี่ยนมาใช้กลองแขกบรรเลงจังหวะหน้าทับแทน
วงเครื่องสายปี่ชวามี 2 ขนาด คือ วงเครื่องสายปี่ชวาวงเล็ก และวงเครื่องสายปี่ชวาวงใหญ่

 

วงมโหรี

         ในสมัยโบราณเป็นคำเรียกการบรรเลงโดยทั่วไป เช่น "มโหรีเครื่องสาย" "มโหรีปี่พาทย์" ในปัจจุบัน มโหรี ใช้เป็นชื่อเรียกเฉพาะวงบรรเลงอย่างหนึ่งอย่างใดที่มีเครื่อง ดีด สี ตี เป่า มาบรรเลงรวมกันหมด ฉะนั้นวงมโหรีก็คือวงเครื่องสาย และวงปี่พาทย์ ผสมกัน วงมโหรีแบ่งเป็น วงมโหรีเครื่องสี่,วงมโหรีเครื่องหก,วงมโหรีเครื่องเดี่ยว หรือ มโหรีเครื่องเล็ก,วงมโหรีเครื่องคู่

ประเภทวงมโหรี

1.             วงมโหรีเครื่องสี่ เกิดจากการการประสมกันระหว่างการบรรเลงพิณและการขับไม้ ปรากฏครั้งแรกในสมัยอยุธยา มีเครื่องดนตรี 4 ชนิดดังนี้ โทน ซอสามสาย กระจับปี่ กรับพวง

2.             วงมโหรีเครื่องหก ลักษณะคล้ายวงมโหรีเครื่องสี่ แต่ได้เพิ่มเครื่องดนตรีอีกสองอย่างคือ รำมะนาและขลุ่ยเพียงออ

3.             วงมโหรีเครื่องเดี่ยวเกิดขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ในระยะแรกเพิ่มระนาดเอกและฆ้องวงใหญ่ ในระยะหลังได้เพิ่มซอด้วงและซออู้ เปลี่ยนกระจับปี่เป็นจะเข้

4.             วงมโหรีเครื่องคู่ เหมือนกับวงมโหรีเครื่องเล็ก แต่ได้เพิ่มระนาดทุ้ม ฆ้องวงเล็ก ขลุ่ยหลิบ ซอด้วง ซออู้ จะเข้ และซอสามสายหลิบอย่างละหนึ่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น