วันอาทิตย์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

คีตกวีไทย

      
 เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
 เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เกิดวันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ที่จังหวัดกาญจนบุรี เป็นบุตรคนโตและเป็นผู้ชายคนเดียวในจำนวนพี่น้อง ๕ คน บิดาชื่อ นายฮกหรือสมบัติ มารดาชื่อ นางสมใจ
     ในยุคแรกๆงานประพันธ์ของเขาจะเป็นกลอนรักทั้งสิ้น บทกลอนที่ชื่อ นกขมิ้น ได้รับคัดเลือกนำไปแปลเผยแพร่ในงานกวีนานาชาติ ณ ประเทศเกาหลี
     ได้รับรางวัลซีไรท์ จากบทประพันธ์เพียงความเคลื่อนไหวในปี พ.ศ. ๒๕๒๓
     เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๓๓ - ๒๕๓๖ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เดินทางไปทั่วประเทศเพื่อเขียนบทกวีบันทึกเรื่องราวของทุกจังหวัดไว้ในผลงานชุด "เขียนแผ่นดิน" นับเป็นผลงานเอกที่ส่งผลให้ได้รับเกียรติจากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ประกาศให้เป็น ศิลปินแห่งชาติ เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๓๖

มนตรี ตราโมท
        มนตรี ตราโมท มีนามเดิมว่า บุญธรรม เกิดเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2443    เริ่มเรียนดนตรีปี่พาทย์ กับครูสมบุญ นักฆ้อง ต่อมาเรียนระนาดเอก ฆ้องวงใหญ่ แคลริเนต และหลักการแต่งเพลง กับครูสมบุญ สมสุวรรณ เรียนวิธีการแต่งเพลงกับพระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสามศัพท์) และหลวงประดิษฐ์ไพเราะ(ศร ศิลปบรรเลง)และครูดนตรีไทยที่มีชื่อเสียงหลายท่าน รวมทั้งเรียนโน้ตสากลกับพระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยกร) จนสามารถอ่านและเขียนได้เป็นอย่างดี 
        มนตรี ตราโมท รับราชการที่กรมพิณพาทย์หลวงในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นผู้บรรเลงระนาดทุ้มประจำวงข้าหลวงเดิม ต่อมาย้ายไปสังกัดกรมศิลปากร จนเกษียณอายุ  และยังคงปฏิบัติราชการในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีไทยจนถึงแก่อนิจกรรมมนตรี ตราโมท  มีฝีมือทางการบรรเลงเครื่งดนตรีไทยได้หลายชนิด ที่ได้รับยกย่องพิเศษ คือ ระนาดทุ้ม


สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
      สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงป็นพระราชโอรสองค์ที่ 62 ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และพระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพรรณราย ทรงพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าจิตรเจริญ ประสูติเมื่อวันอังคาร เดือน ๖ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ปีกุน ตรงกับวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ.๒๔๐๖
     สมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์นี้ ทรงมีพระปรีชาสามารถในงานศิลปะทุกแขนง เช่น งานช่าง อักษรศาสตร์ การประพันธ์ฉันทลักษณ์ สถาปัตยกรรม ปฏิมากรรม จิตรกรรม ดุริยศิลป์ นาฏศิลป์ ตลอดจนถึงการนิพนธ์บทละครทุกประเภท
     ในด้านการดนตรีนั้นทรงสนพระทัยมาตั้งแต่ยังมีพระชนมายุไม่ถึง ๑๐ พรรษา ทรงเริ่มเรียนดนตรีจากครูถึก ดุริยางกูร(บุตรของพระประดิษฐไพเราะ ครูมีแขก)แล้วทรงเรียนกับท่านขุนเณร เจ้ากรมพิณพาทย์หลวงสมัยต้นรัชกาลที่ ๕ ต่อมาได้ทรงเรียนเพลงหน้าพาทย์ และเพลงเรื่องต่างๆจากพระประดิษฐไพเราะ(ตาด)ซึ่งเรียนอยู่นานที่สุดและใกล้ชิดกันมากที่สุด เมื่อทรงเข้าโรงเรียนทหารมหาดเล็กทรงหัดเป่าฟลุ้ทกับครูฝรั่ง(ไม่ปรากฏนาม)รวมทั้งเรียนโน้ตสากลด้วย ปรากฏว่าทรงอ่านและเขียนโน้ตสากลได้ดีมากตั้งแต่มีพระชนมายุ ๒๒ ชันษา

 
บุญยงค์ เกตุคง
     ครูบุญยงค์ เป็นบุตรชายคนโตของนายเที่ยงและนางเขียน เกตุคง เกิดเมื่อวันอังคาร เดือน 4  ปีวอก พ.ศ.2463  ครูได้ศึกษาดนตรีกับนักดนตรีที่มีชื่อเสียงหลายท่าน จนมีความสามารถในการบรรเลงปี่พาทย์ได้ทุกประเภท ทั้งประกอบการแสดงโขน ละคร ลิเก จนถึงการประชันวงปี่พาทย์   นอกจากนั้นครูได้รับยกย่องสรรเสริญว่าเป็น ระนาดเทวดาเพราะมีฝีมือบรรเลงระนาดเอกได้ยอดเยี่ยมที่สุดคนหนึ่งในยุคสมัยเดียวกัน
        ผลงานการแต่งเพลงของครูในระยะหลัง มีชื่อเสียงแพร่หลายไปถึงต่างประเทศคือไปร่วมงานกับนายบรู๊ซ แกสตัน นักดนตรีชาวเยอรมันจัดทำเพลงชุดเจ้าพระยาคอนแชร์โต้บรรเลงด้วยเครื่องดนตรีไทยผสมดนตรีฝรั่ง

ครูช้อย  สุนทรวาทิน
ครูช้อย เป็นคีตกวีผู้อาภัพ พิการทางตาตั้งแต่เล็ก และเป็นคีตกวีที่ไม่มีบรรดาศักดิ์ แต่ท่านเป็นครูปี่พาทย์ที่สำคัญในมัยรัชกาลที่ 5 ได้สอนดนตรีหญิงที่ตำหนักเจ้าลาว และเป็นครูของพระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง  ท่านมีผลงานในการแต่งเพลง รวมทั้งขยายเพลงเดิม เช่น โหมโรงครอบจักรวาลสามชั้น  แขกลพบุรีสามชั้น
หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)
เป็นบุตรครูสิน ศิลปบรรเลง ซึ่งเป็นศิษย์ของพระประดิษฐ์ไพเราะ เป็นคนจังหวัด สมุทรสงคราม มีฝีมือในการตีระนาดที่หาตัวจับยาก จึงมีชื่อเสียงโด่งดัง ครั้นได้ตีระนาดถวายสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธ์ ก็ได้รับรางวัลมากมาย และได้ประทานตำแหน่งเป็น "จางวางมหาดเล็กในพระองค์" คนทั่วไปจึงเรียกว่า "จางวางศร"
นอกจากระนาดแล้ว ท่านยังสามารถบรรเลงปี่ได้ดี และสามารถคิดหาวิธีเป่าปี่ให้ เสียงสูงขึ้นกว่าเดิมได้อีก 2 เสียง
ในด้านการแต่งเพลง ท่านสามารถแต่งเพลงได้เร็ว และมีลูกเล่นแพรวพราว แม้ในการประกวดการประดิษฐ์ทางรับ คือการนำเพลงที่ไม่เคยรู้จักมาร้องให้ ปี่พาทย์รับ ท่านก็สามารถนำวงรอดได้ทุกครา

ผลงานเด่นๆ ของท่านมีมากมาย ได้แก่
- ประดิษฐ์วิธีบรรเลงดนตรี "ทางกรอ" ขึ้นใหม่ในเพลง"เขมรเรียบพระนครสามชั้น"    เป็นผลให้ได้รับพระราชทานเหรียญรุจิทอง ร.5 และ ร.6
- ต้นตำรับเพลงทางเปลี่ยน คือ เพลงเดียวกันแต่บรรเลงไม่ซ้ำกันในแต่ละเที่ยว
- พระอาจารย์สอนดนตรีแด่พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จนทรงมีพระปรีชาสามารถ  พระราชนิพนธ์เพลงได้เอง คือเพลง "คลื่นกระทบฝั่งโหมโรง"   "เขมรละออองค์เถา" และ "ราตรีประดับดาวเถา"
- คิดโน๊ตตัวเลขสำหรับเครื่องดนตรีไทยซึ่งได้ใช้มาจนทุกวันนี้
- นำเครื่องดนตรีชวาคือ "อังกะลุง" เข้ามาและได้แก้ไขจนเป็นแบบไทย
- สอนดนตรีไทยในพระราชสำนักเมืองกัมพูชา และได้นำเพลงเขมรมาทำเป็น   เพลงไทยหลายเพลง
- ตันตำรับการแต่งเพลงและบรรเลงเพลง 4 ชั้น

ท่านเป็นคีตกวีในสมัยรัชกาลที่ 6 ถึงรัชกาลที่ 7 ซึ่งนับว่าเป็นดวงประทีปทาง ดนตรีไทย ที่ใหญ่ที่สุดในยุคที่ดนตรีไทยเฟื่องฟูที่สุดด้วย

พระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์)
"ครูแปลก" เกิดที่หลังวังกรมพระสมมตอมรพันธ์ เป็นศิษย์คนหนึ่งของครูช้อย สุนทรวาทิน ท่านเคยได้บรรเลงเดี่ยวขลุ่ยถวายต่อหน้า สมเด็จพระนางเจ้าวิคทอเรียที่พิพิธภัณฑ์เมืองริมบลีย์ จนถึงกับถูกขอให้ไปเป่าถวายในพระราชวังบัคกิงแฮมต่อด้วย
ครูแปลกเป็นคนติดเหล้าอย่างหนัก แต่ไม่เคยเมาต่อหน้าศิษย์ ได้เป็นครูสอนวงเครื่องสายหญิงของเจ้าดารารัศมี ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ครั้งแรกเป็นขุนประสานดุริยศัพท์ จนได้เป็นพระยาประสานดุริยศัพท์ใน พ.ศ. 2458 ท่านเคยเป่าปี่เพลงทยอยเดี่ยวในพระประดิษฐ์ไพเราะฟัง ถึงกับได้รับคำชมว่า "เก่งไม่มีใครสู้"
นอกจากท่านจะเชี่ยวชาญปี่และขลุ่ยแล้ว ยังเก่งพวกเครื่องหนังด้วย ขนาดสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภานณุพัธุวงศ์วรเดชตรัสชมว่า "ไม่ใช่คนนี่.. ไอ้นี่มันเป็นเทวดา" ท่านเป็นอาจารย์ของศิษย์ชั้นครูมากมาย เช่นพระเพลงไพเราะ หลวงประดิษฐ์ไพเราะ พระยาภูมิเสวิน อาจารย์มนตรี ตราโมท เป็นต้น

ผลงานเพลงที่สำคัญได้แก่ เพลงเขมรปากท่อเถา เขมรราชบุรีสามชั้น ธรณีร้องไห้สามชั้น (ธรณีกันแสง) พม่าห้าท่อนสามชั้น วิเวกเวหาสามชั้น แขกเชิญเจ้าสองชั้น
พระเพลงไพเราะ (โสม สุวาทิต)
ครูโสม เกิดที่ฝั่งธนบุรี เริ่มเรียนระนาดลิเกจากน้าชาย จากนั้นได้เข้าร่วมเป็นนักดนตรีในกองดนตรีของสมเด็จพระบรม (รัชกาลที่ 6) เป็นคนตีระนาดหน้าฉากเวลาละครเปลี่ยนฉาก มีฝีมือในทางระนาดเป็นเยี่ยม ถึงขนาดเคยตีเอาชนะนายชิน ชาวอัพวา ซึ่งเป็นระนาดมือหนึ่งในสมัยนั้นมาแล้ว
นอกจากนั้นยังสามารถตีรับลิเกในเพลงที่ไม่เคยได้ยินมาก่อนได้ด้วย จนพระยาประสานดุริยศัพท์ชมว่า "โสมแกเก่งมาก ครูเองยังจนเลย"
ครั้งหนึ่งเคยได้ตีระนาดเพลงกราวในถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 เมื่อครั้งทรงพระประชวรให้บรรทม ครั้นตื่นพระบรรทมก็ทรงชมว่า "โสม เจ้ายังตีฝีมือไม่ตกเลย" นับว่าการตีปี่พาทย์ประกอบโขนละครในสมัยนั้น (รัชกาลที่ 5-7) ไม่มีใครสู้ครูโสมได้

ท่านได้บรรดาศักดิ์เป็นพระ เมื่อ พ.ศ.2460 และถึงแก่กรรมเพราะซ้อมระนาดหนักจนพักผ่อนไม่เพียงพอ และทานอาหารไม่เป็นเวลาจนเป็นโรคกระเพาะ รวมอายุได้ 49 ปี





วงดนตรีไทย

วงดนตรีไทย

สมัยสุโขทัย

        วงดนตรีไทย ในสมัยสุโขทัย มีดังนี้ คือ
         1. วงบรรเลงพิณ มีผู้บรรเลง 1 คน ทำหน้าที่ดีดพิณและขับร้องไปด้วย เป็นลักษณะของการขับลำนำ
         2. วงขับไม้ ประกอบด้วยผู้บรรเลง 3 คน คือ คนขับลำนำ 1 คน คนสี ซอสามสาย คลอเสียงร้อง 1 คน และ คนไกว บัณเฑาะว์ ให้จังหวะ 1 คน
3. วงปี่พาทย์ เป็นลักษณะของวงปี่พาทย์เครื่องห้า มี 2 ชนิด คือ
         -วงปี่พาทย์เครื่องห้าอย่างเบา ประกอบด้วยเครื่องดนตรีชนิดเล็ก ๆ จำนวน 5 ชิ้น คือ ปี่  กลองชาตรี  ทับ (โทน) ฆ้องคู่ และ ฉิ่ง ใช้บรรเลงประกอบการแสดง ละครชาตรี (เป็นละครเก่าแก่ที่สุดของไทย)
         -วงปี่พาทย์เครื่องห้าอย่างหนัก ประกอบด้วย เครื่องดนตรีจำนวน 5 ชิ้น คือ ปี่ใน ฆ้องวง (ใหญ่)  ตะโพน กลองทัด และ ฉิ่ง ใช้บรรเลงประโคมในงานพิธีและบรรเลงประกอบ การแสดงมหรสพ ต่าง ๆ จะเห็นว่า วงปี่พาทย์เครื่องห้า ในสมัยนี้ยังไม่มีระนาดเอก
         4. วงเครื่องประโคม ใช้เฉพาะในงานพระราชพิธี มี 2 ชนิด คือ
             -ประโคมแตร ใช้เวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกขุนนาง ถึงในงานพระราชพิธี และเสด็จพระราชดำเนินกลับ
             -ประโคมแตรสังข์ กลองชนะ ใช้ในการเสด็จพระราชดำเนิน กระบวนพยุหยาตรา และขบวนพระราชพิธีต่างๆ
5. วงมโหรี เป็นลักษณะของวงดนตรีอีกแบบหนึ่ง ที่นำเอา วงบรรเลงพิณ กับ วงขับไม้ มาผสมกัน เป็นลักษณะของ วงมโหรีเครื่องสี่ เพราะประกอบด้วยผู้บรรเลง 4 คน คือ 1. คนขับลำนำและตี กรับพวง ให้จังหวะ 2. คนสี ซอสามสาย คลอเสียงร้อง 3. คนดีดพิณ และ 4. คนตีทับ (โทน) ควบคุมจังหวะ

สมัยกรุงศรีอยุธยา

                มีการแบ่งแยกการรวมวงเป็น 4 แบบ คือ วงขับไม้ วงเครื่องสาย วงมโหรี มีการเพิ่มรำมะนา และขลุ่ยมาร่วมด้วย เรียกว่า วงมโหรีเครื่องหก ซึ่งใช้ผู้หญิงบรรเลง วงปี่พาทย์(เครื่องห้า) มีทั้งวงปี่พาทย์อย่างเบา และอย่างหนัก แต่ภายหลังเหลือเพียงวงปี่พาทย์อย่างหนัก และเพิ่มกลองแขก ซึ่งรับมาจากชวามาใช้ด้วย ซึ่งในสมัยอยุธยา มีเครื่องดนตรีเกือบครบทุกชนิด เช่น ซอด้วง ซออู้ จะเข้

สมัยกรุงธนบุรี

         เนื่องจากในสมัยนี้เป็นช่วงระยะเวลาอันสั้นเพียงแค่ 15 ปี และประกอบกับ เป็นสมัยแห่งการก่อร่างสร้างเมือง และการป้องกันประเทศเสียโดยมาก วงดนตรีไทย ในสมัยนี้จึงไม่ปรากฎหลักฐานไว้ว่า ได้มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงขึ้น สันนิษฐานว่า ยังคงเป็นลักษณะและรูปแบบของ ดนตรีไทย ในสมัยกรุงศรีอยุธยานั่นเอง

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

         การพัฒนา เปลี่ยนแปลงของ ดนตรีไทย ในสมัยนี้ก็คือ ได้มีการนำเอา วงปี่พาทย์มาบรรเลง ประกอบการขับเสภา เป็นครั้งแรก นอกจากนี้ ยังมีกลองชนิดหนึ่งเกิดขึ้น โดยดัดแปลงจาก "เปิงมาง" ของมอญ ต่อมาเรียกกลองชนิดนี้ว่า "สองหน้า" ใช้ตีกำกับจังหวะแทนเสียงตะโพนในวงปี่พาทย์ ประกอบการขับเสภา เนื่องจากเห็นว่าตะโพนดังเกินไป จนกระทั่งกลบเสียงขับ กลองสองหน้านี้ ปัจจุบันนิยมใช้ตีกำกับจังหวะหน้าทับ ในวงปี่พาทย์ไม้แข็ง
        สมัยรัชกาลที่ 1 มีการเพิ่มกลองทัด 1 ลูก ในวงปี่พาทย์รวมเป็น 2 ลูก (ตัวผู้ และตัวเมีย) และใช้มาจนถึงปัจจุบัน
                สมัยรัชกาลที่ 2 มีการเปลี่ยนแปลงการบรรเลงปี่พาทย์ โดยงดตะโพน และกลองทัด เปลี่ยนมาใช้กลองสองหน้าแทน เรียกว่า “วงปี่พาทย์เสภา” ซึ่งในสมัยปัจจุบันได้นิยมบรรเลงกัน และเรียกว่า “วงปี่พาทย์ไม้แข็ง”
สมัยรัชกาลที่ 3 วงปี่พาทย์ได้พัฒนาขึ้นเป็นวงปี่พาทย์เครื่องคู่ เพราะได้มีการประดิษฐ์ระนาดทุ้ม มาคู่กับระนาดเอก และประดิษฐ์ฆ้องวงเล็กมาคู่กับ ฆ้องวงใหญ่
                สมัยรัชกาลที่ 4 มีการเพิ่มเครื่องดนตรีเข้าในวงปี่พาทย์เครื่องคู่อีก 2 ชนิด คือ ระนาดเอกเหล็ก และระนาดทุ้มเหล็ก โดยเรียกว่า “วงปี่พาทย์เครื่องใหญ่”
                สมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการปรับปรุงวงดนตรีขึ้นใหม่ เรียกว่า “วงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์”
                สมัยรัชกาลที่ 6 มีการปรับปรุงวงปี่พาทย์มอญขึ้นใช้ในงานศพ โดยครูหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปะบรรเลง) ได้ไปเรียนเพลงมอญมาจากครูสุ่ม (มอญ) และปรับปรุงวงขึ้นใหม่ โดยใช้เครื่องปี่พาทย์ของไทยผสมกับของมอญ จนเกิดเป็นวงปี่พาทย์มอญเครื่องห้า เครื่องคู่และเครื่องใหญ่
                เครื่องดนตรีต่างชาติที่เข้ามาประสมกับเครื่องดนตรีไทย และเกิดเป็นวงดนตรีไทย ได้แก่ ขิม
  ดนตรีไทยมักเล่นเป็นวงดนตรี มีการแบ่งตามประเภทของการบรรเลงที่เป็นระเบียบมาแต่โบราณกาลจนถึงปัจจุบันเป็น 3 ประเภท คือ

วงปี่พาทย์

         ประกอบด้วยเครื่องตีเป็นสำคัญ เช่น ฆ้อง กลอง และมีเครื่องเป่าเป็นประธานได้แก่ ปี่ นอกจากนั้นเป็นเครื่อง วงปี่พาทย์ยังแบ่งไปได้อีกคือ วงปี่พาทย์ชาตรี,วงปี่พาทย์ไม้แข็ง,วงปี่พาทย์เครื่องห้า,วงปี่พาทย์เครื่องคู่,วงปี่พาทย์เครื่องใหญ่,วงปี่พาทย์ไม้นวม,วงปี่พาทย์มอญ,วงปี่พาทย์นางหงส์

วงปี่พาทย์ มี 8 แบบ คือ
       1.วงปี่พาทย์เครื่องห้า วงปี่พาทย์เครื่องห้า เป็นวงปี่พาทย์ที่เป็นวงหลัก มีจำนวนเครื่องดนตรีน้อยชิ้นที่สุด
       

2.วงปี่พาทย์เครื่องคู่ เป็นวงปี่พาทย์ที่ประกอบด้วยเครื่องทำทำนองเป็นคู่ เนื่องด้วยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีผู้คิดเครื่องดนตรีเพิ่มขึ้นอีก 2 อย่าง คือ ระนาดทุ้มกับฆ้องวงเล็ก และนำเอาปี่นอกซึ่งใช้ในการบรรเลงปี่พาทย์สำหรับการแสดงหนังใหญ่สมัยโบราณมารวมเข้ากับวงปี่พาทย์เครื่องห้าที่มีอยู่เดิม



         3.วงปี่พาทย์เครื่องใหญ่ คือ วงปี่พาทย์เครื่องคู่ที่เพิ่มระนาดเอกเหล็กกับระนาดทุ้มเหล็ก ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประดิษฐ์ขึ้น กลายเป็นวงปี่พาทย์ที่มีระนาด 4 ราง โดยตั้งระนาดเอกเหล็กที่ริมด้านขวามือและตั้งระนาดทุ้มเหล็กที่ริมด้านซ้ายมือ ซึ่งนักดนตรีนิยมเรียกกันว่า "เพิ่มหัวท้าย" วงปี่พาทย์เครื่องใหญ่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวบางวงก็เพิ่มกลองทัด รวมเป็น 3 ใบบ้าง 4 ใบบ้าง ส่วนฉาบใหญ่นำมาใช้ในวงปี่พาทย์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

4.วงปี่พาทย์นางหงส์ คือ วงปี่พาทย์ธรรมดาซึ่งใช้บรรเลงทั่วไป แต่เมื่อนำมาใช้ประโคมในงานศพ จะนำวงบัวลอยซึ่งประกอบด้วยปี่ชวา 1 เลา กลองมลายู 1 คู่ และเหม่ง 1ใบ ที่ใช้ประโคมในงานศพเข้ามาผสม โดยตัดปี่ใน ตะโพน และกลองทัดออก ใช้ปี่ชวาแทนปี่ใน ใช้กลองมลายูแทนตะโพนและกลองทัด ส่วนเหม่งนั้นมีเสียงไม่เหมาะกับวงปี่พาทย์จึงไม่นำมาใช้ ใช้แต่โหม่งซึ่งมีอยู่เดิม เรียกว่า "วงปี่พาทย์นางหงส์"


5.วงปี่พาทย์มอญ ประกอบด้วยเครื่องดนตรีที่ได้อิทธิพลมาจากมอญ เช่น ฆ้องมอญ ปี่มอญ ตะโพนมอญ และเปิงมางคอก ปัจจุบันวงปี่พาทย์มอญมี 3 ขนาด ได้แก่
      5.1วงปี่พาทย์มอญเครื่องห้า ประกอบด้วยปี่มอญ ระนาดเอก ฆ้องมอญ ตะโพนมอญ เปิงมางคอก และเครื่องกำกับจังหวะ ได้แก่ ฉิ่ง ฉาบ โหม่ง
 
      5.2วงปี่พาทย์มอญเครื่องคู่ มีลักษณะเดียวกับวงปี่พาทย์มอญเครื่องห้า แต่เพิ่มระนาดทุ้มและฆ้องมอญวงเล็ก
       



      5.3วงปี่พาทย์มอญเครื่องใหญ่ มีลักษณะเดียวกับวงปี่พาทย์มอญเครื่องคู่ แต่เพิ่ม ระนาดเอกเหล็กและระนาดทุ้มเหล็ก
 
       6.วงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ คือ วงปี่พาทย์ประสมชนิดหนึ่ง มีต้นเค้าสืบเนื่องมาจากละครดึกดำบรรพ์ ซึ่งเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ (ม.ร.ว.หลาน กุญชร) และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ร่วมกันปรับปรุงขึ้นโดยอาศัยแนวอุปรากรของตะวันตกเข้าประกอบ ละครนี้ได้ชื่อตามโรงละคร ซึ่งเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ตั้งชื่อว่า "โรงละครดึกดำบรรพ์" ละครก็เรียกว่า "ละครดึกดำบรรพ์" ด้วย วงปี่พาทย์ที่บรรเลงในการเล่นละครนี้จึงมีชื่อว่า "ปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์" สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้ทรงคัดเลือกเครื่องดนตรีที่มีเสียงทุ้มนุ่มนวลประสมเข้าด้วยกันให้เหมาะสมกับการแสดงละครดึกดำบรรพ์

 7.วงปี่พาทย์ไม้นวม คือ วงปี่พาทย์ที่ใช้ไม้ตีระนาดเอกเปลี่ยนจากไม้แข็งเป็นไม้นวมคือ ไม้ตีจะพันผ้าและด้ายรัดหลายๆ รอบจนแน่น เมื่อใช้ตีจะมีเสียงนุ่มนวลเพิ่มซออู้อีก 1 คัน และใช้ขลุ่ยเพียงออแทนปี่ บางโอกาสอาจใช้กลองแขกตีเป็นเครื่องกำกับจังหวะ

  
  
8.
วงปี่พาทย์เสภา คือ วงปี่พาทย์ซึ่งใช้กลองสองหน้าทำจังหวะหน้าทับแทนตะโพนและกลองทัด เริ่มนำมาบรรเลงร่วมกับการเล่นเสภาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

  

วงเครื่องสาย

         เครื่องสาย ได้แก่ เครื่องดนตรี ที่ประกอบด้วยเครื่องดนตรีที่มีสายเป็นประธาน มีเครื่องเป่า และเครื่องตี เป็นส่วนประกอบ ได้แก่ ซอด้วง ซออู้ จะเข้ เป็นต้น ปัจจุบันวงเครื่องสายมี 4 แบบ คือ วงเครื่องสายไทยเครื่องเดี่ยว,วงเครื่องสายไทยเครื่องคู่,วงเครื่องสายผสม,วงเครื่องสายปี่ชวk
1.วงเครื่องสายไทยเครื่องเดี่ยว ประกอบด้วยเครื่องดนตรีในตระกูลเครื่องสายและเป่า อย่างละหนึ่ง

                

2.วงเครื่องสายไทยเครื่องคู่ ประกอบด้วย เครื่องดนตรีที่อยู่ในวงเครื่องสายเครื่องเดี่ยวเป็นหลัก โดยเพิ่ม  จำนวนของเครื่องดนตรีจากหนึ่งเป็นสองหรือเป็นคู่


3.วงเครื่องสายผสม  เป็นวงดนตรีที่ประกอบด้วยเครื่องดนตรีอย่างที่สังกัดในวงเครื่องสายไทย เพียงแต่
พิ่มเอาเครื่องดนตรีที่อยู่นอกเหนือจากวงเครื่องสายไทย หรืออาจจะเป็นเครื่องดนตรีพื้นเมือง หรือเครื่องดนตรีของต่างชาติ
ก็ได้ มาบรรเลงร่วมด้วย  ซึ่งเครื่องดนตรีที่นำมาผสมนั้นต้องโดยคำนึงถึงลักษณะของเสียงด้วยว่ามีความกลมกลืนมาก
น้อยเพียงใด
  

4.วงเครื่องสายปี่ชวา  ประกอบด้วยเครื่องดนตรีในวงเครื่องสายไทยเป็นหลัก และนำเอาปี่ชวามาบรรเลง
แทนขลุ่ยเพียงออ คงไว้แต่เพียงขลุ่ยหลิบ ซึ่งมีเสียงสูง และเปลี่ยนมาใช้กลองแขกบรรเลงจังหวะหน้าทับแทน
วงเครื่องสายปี่ชวามี 2 ขนาด คือ วงเครื่องสายปี่ชวาวงเล็ก และวงเครื่องสายปี่ชวาวงใหญ่

 

วงมโหรี

         ในสมัยโบราณเป็นคำเรียกการบรรเลงโดยทั่วไป เช่น "มโหรีเครื่องสาย" "มโหรีปี่พาทย์" ในปัจจุบัน มโหรี ใช้เป็นชื่อเรียกเฉพาะวงบรรเลงอย่างหนึ่งอย่างใดที่มีเครื่อง ดีด สี ตี เป่า มาบรรเลงรวมกันหมด ฉะนั้นวงมโหรีก็คือวงเครื่องสาย และวงปี่พาทย์ ผสมกัน วงมโหรีแบ่งเป็น วงมโหรีเครื่องสี่,วงมโหรีเครื่องหก,วงมโหรีเครื่องเดี่ยว หรือ มโหรีเครื่องเล็ก,วงมโหรีเครื่องคู่

ประเภทวงมโหรี

1.             วงมโหรีเครื่องสี่ เกิดจากการการประสมกันระหว่างการบรรเลงพิณและการขับไม้ ปรากฏครั้งแรกในสมัยอยุธยา มีเครื่องดนตรี 4 ชนิดดังนี้ โทน ซอสามสาย กระจับปี่ กรับพวง

2.             วงมโหรีเครื่องหก ลักษณะคล้ายวงมโหรีเครื่องสี่ แต่ได้เพิ่มเครื่องดนตรีอีกสองอย่างคือ รำมะนาและขลุ่ยเพียงออ

3.             วงมโหรีเครื่องเดี่ยวเกิดขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ในระยะแรกเพิ่มระนาดเอกและฆ้องวงใหญ่ ในระยะหลังได้เพิ่มซอด้วงและซออู้ เปลี่ยนกระจับปี่เป็นจะเข้

4.             วงมโหรีเครื่องคู่ เหมือนกับวงมโหรีเครื่องเล็ก แต่ได้เพิ่มระนาดทุ้ม ฆ้องวงเล็ก ขลุ่ยหลิบ ซอด้วง ซออู้ จะเข้ และซอสามสายหลิบอย่างละหนึ่ง

เครื่องดนตรีไทย

เครื่องดนตรีไทย คือ เครื่องดนตรี ที่สร้างสรรค์ขึ้นตามศิลปวัฒนธรรมดนตรีของไทย ที่มีรูปแบบเอกลักษณ์ของความเป็นไทย ซึ่งสัมพันธ์กับชีวิตความเป็นอยู่และถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของคนไทย โดยนิยมแบ่งตามอากัปกิริยา ของการบรรเลง
    
ประเภทเครื่องดนตรีไทย
เครื่องดีด
เครื่องสี
เครื่องตี
เครื่องเป่า
เครื่องดีด
          เครื่องดีดคือ เครื่องดนตรีไทยที่บรรเลงหรือเล่นด้วยการใช้นิ้วมือ หรือไม้ดีด ดีดสาย ให้สั่นสะเทือนจึงเกิดเสียงขึ้น เครื่องดนตรีไทยประเภทนี้มีหลายชนิด แต่ที่นิยมเล่น กันแพร่หลาย ในปัจจุบันมีอยู่ไม่กี่ชนิด คือ กระจับ พิณน้ำเต้าและจะเข้

กระจับปี่  คือ พิณชนิดหนึ่งมี 4 สาย กะโหลกเป็นรูปรีแบน ทั้งด้านหน้า และด้านหลังทวนยาวเรียว โค้งมีนมรับนิ้ว สำหรับกดสาย 11 นม  ไม้ดีดทำด้วยเขาหรือกระดูกสัตว์ กระจับปี่เป็นเครื่องดนตรีโบราณ
                                                                                                                                                                   
พิณ
พิณมี 2 ชนิดสือ พิณน้ำเต้า และพิณเพียะ ลักษณะคล้ายกัน คือกะโหลกทำด้วยน้ำเต้ามีลูกบิดสายสำหรับเร่ง และตั้งเสียง พิณน้ำเต้ามีสายเดียว ส่วนพิณเพียะมี 4 สาย ใช้ดีดประสาน และคลอกับเสียงร้องของผู้เล่นเอง
                                                                                               
ซึง
ซึงมี 4 สายเหมือนกระจับปี่ มีรูปร่างคล้าย พิณวงเดือนของจีน (จีนเรียก เยอะฉิน) ของไทยทางภาคเหนือ เรียก ซึง ส่วนภาคอีสาน เรียกพิณอีสานเป็นเครื่องดนตรีพื้นเมืองภาคเหนือใช้ประสมวงกับปี่ซอ


    
จะเข้
เป็นเครื่องดีดที่มีเสียงกังวาน ไพเราะ สันนิษฐานว่า ปรับปรุงมาจากพิณ เพื่อให้นั่งดีดได้สะดวก ตัวจะเข้ทำด้วยไม้ขนุนท่อนเดียวมีเท้ารองตอนหัว 4 อัน ตอนปลายหาง อีก 1 อัน  มี 3 สาย ไม้ดีดกลม ปลายแหลม ใช้ดีดไปบนสายที่พาดบนนม นม มี 11 อัน ประสมอยู่ในวง เครื่องสาย วงมโหรี

   

เครื่องสี
เครื่องสี    เป็น เครื่องสายที่ทำให้เกิดเสียงด้วยการใช้คันชักสีเข้ากับสายในดนตรีไทย มีอยู่ 3 ชนิดคือ ซอด้วง ซอสามสาย และซออู้
ซอสามสาย
เป็นเครื่องดนตรีเก่าแก่ของไทย ในสมัยสุโขทัยเรียก ซอพุงตอ กะโหลกซอทำด้วยกะลามะพร้าวชนิดพิเศษ คือมีกะลานูนเป็นกระพุ้งออกมา 3 ปุ่ม ขึงหนังแพะหรือหนังลูกวัวปิดปากกะลาส่วนประกอบที่สำคัญนอกจาก หย่องซึ่งเป็นไม้สำหรับหนุนสายตรงหนังซอให้สายตุงออกมายังมีถ่วงหน้าตรงด้านซ้ายตอนบนซึ่งช่วยให้ซอมีความไพเราะ กังวาน ทั้งยังเป็นที่ประดับประดา อัญมณีเพื่อให้เกิดความสวยงาม ใช้บรรเลงประสมอยู่ ู่ในวงขับไม้ วงมโหรี และวงดนตรีประกอบชุดโบราณคดี
 
                                                                
ซอด้วง
มี 2 สาย กะโหลกซอเดิมทำด้วยกระบอกไม้ไผ่ ในปัจจุบันนิยมใช้ไม้เนื้อแข็งเจาะกลึง ขึ้นหน้ากะโหลก ซอด้วยหนังงูเหลือม คันทวนตอนบนปาดปลาย ลักษณะคล้ายโขนเรือ มีลูกบิด 2 อันสอดคันชักระหว่าง สายซอทั้ง 2 เส้น เนื่องจากรูปร่างลักษณะของซอคล้ายด้วงดักสัตว์จึงเรียกว่า “ซอด้วง ใช้ประสม ในวงเครื่องสาย และมโหรี ทำหน้าที่เป็นเครื่องนำวงในวงเครื่องสาย

  
ซออู้
มี 2 สาย กะโหลกทำจากกะลามะพร้าวปาดข้าง และแกะสลักลวดลาย เพื่อเปิดให้มีช่องเสียง หุ้มหนัง ซอด้วย หนังแพะ หรือหนังลูกวัว คันทวนตั้งตรง ลักษณะเด่นของซออู้ คือ เสียงที่ทุ้มต่ำกังวาน  ดำเนินการบรรเลงให้มีท่วงทำนองอ่อนหวาน เศร้าโศกได้ดี ประสมอยู่ในวงเครื่องสาย วงมโหรี วงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ วงปี่พาทย์ไม้นวม และวงดนตรีประกอบระบำชุดโบราณคดี

 

สะล้อ
เป็นเครื่องดนตรีพื้นเมืองของภาคเหนือ มี  2-3 สาย ลักษณะคล้ายซออู้กับซอสามสายผสมกัน มีคันชัก อยู่ด้านนอก ใช้บรรเลงเดี่ยวบ้าง บรรเลงประสมกับซึงบ้าง หรือกับปี่ซอบ้าง เป็นต้น
  
                                                                          
เครื่องตี
เครื่องตีคือ เครื่องดนตรีประเภทนี้จะต้องมีการกระทบกันจึงจะเกิดเสียงดังออกมาและการกระทบกันที่ว่านี้มีหลายวิธี เช่น การตี การเขย่า การเคาะ การตีอาจจะใช้ไม้ตี หรืออาจจะใช้สิ่งหนึ่งกระทบเข้ากับอีกสิ่งหนึ่งเพื่อทำให้เกิดเสียง เครื่องตีกระทบประกอบขึ้นด้วยวัสดุของแข็งหลายชนิด เช่น โลหะ , ไม้ หรือ แผ่นหนังขึงตึง
ระนาดเอก
เป็นเครื่องดนตรีที่มีวิวัฒนาการมาจากกรับ โดยการนำกรับหลายอันที่มีขนาดแตกต่างกันมาร้อยเรียง และ แขวนบนรางระนาด ผืนระนาดทำจากไม้ไผ่บง ไม้ชิงชัน ไม้มะหาด ไม้พยุง เป็นต้น  มีลูกระนาด 21-22 ลูกเทียบเสียงด้วยการติดตะกั่วผสมขี้ผึ้ง มีไม้ตี 2 ชนิด ไม้แข็ง และไม้นวม โดยปกติจะตีพร้อมกัน ทั้ง 2 มือ เป็นคู่แปด ดำเนินทำนองเก็บถี่โดยแปรจากทำนองหลัก(ฆ้อง)      เป็นทำนองเต็มทำหน้าที่เป็นผู้นำวง

 
ระนาดทุ้ม
เป็นเครื่องดนตรีที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยประดิษฐ์เลียนแบบระนาดเอก แต่ใหญ่ กว้าง  และเสียงทุ้มกว่า มีลูกระนาด 17-18 ลูก ทำหน้าที่ แปรทำนองหลักจากฆ้อง เป็นทาง และลีลาตลกคะนอง มีการขัด ล้อ ล้วงล้ำ เหลื่อม เป็นต้น ตีสอดแทรก ยั่วเย้า หยอกล้อ ไปกับเครื่องดำเนินทำนองให้สนุกสนาน

 
ระนาดเอกเหล็ก
เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า
ระนาดทอง  เป็นเครื่องดนตรีที่ประดิษฐ์ขึ้น ในสมัยรัชกาลที่ 4โดยประดิษฐ์จากเหล็ก หรือทองเหลือง เมื่อบรรเลง จึงมีเสียงดังกว่าระนาดไม้ ทำหน้าที่ในการบรรเลง โดยแปรลูกฆ้องออกเป็นทำนอง เต็มเหมือน ระนาดเอก เพียงแต่ไม่ทำหน้าที่ผู้นำวงเท่านั้น

 
                                                                             
ระนาดทุ้มเหล็ก
ประดิษฐ์ขึ้นในสมัย
รัชกาลที่ 4 โดยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริให้สร้างขึ้น โดยทรงได้แนวคิด มาจากหีบเพลงฝรั่ง ระนาดทุ้มเหล็กมี 16 ลูก ทำหน้าที่โดยแปรลูกฆ้องออก เป็นทำนอง เต็ม มีเสียงกังวาน และหึ่งจึงคล้าย (Bass) ของวง ดนตรีตะวันตก

     
                                                                              
ฆ้องวงใหญ่
วิวัฒนาการมาจากฆ้องเดี่ยว
ฆ้องคู่ ฆ้องราว และฆ้องราง จนกระทั่งเป็นฆ้องวง โดยมีลูกฆ้องร้อยเรียงบนรางรอบร้านฆ้อง จำนวน 16 ลูก เรียงจากลูกใหญ่ด้านซ้ายมือ มาหาลูกเล็กด้านขวามือ ดำเนินทำนองหลักอันเป็นแม่บทของเพลง จัดเป็นเครื่องดนตรีที่มีความสำคัญที่สุด นักดนตรีในวงปี่พาทย์ทุกคน ต้องเริ่มหัดเรียนฆ้องวงใหญ่ก่อนจึงจะเปลี่ยนเป็นไปเรียนเครื่องดนตรีชนิดอื่นสันนิษฐานว่าฆ้องวงใหญ่มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย
 

ฆ้องวงเล็ก
ประดิษฐ์ขึ้นในสมัยรัชกาลที่
3 เพื่อให้เข้ากับฆ้องวงใหญ่ มีขนาดเล็กกว่า แต่มีจำนวนลูกฆ้อง มากกว่า โดยมี 18 ลูก ทำหน้าที่ ดำเนินทำนองโดยแปรลูกฆ้อง ออกเป็นทำนองเต็ม ทำหน้าที่สอดแทรกทำนองในทางเสียงสูง
 
ฆ้องมอญวงใหญ่
เป็นเครื่องดนตรีของชาวรามัญ นักดนตรีไทยนำเครื่องดนตรีชนิดนี้มาบรรเลงทั่วไป เพื่อประกอบ ละครพันทางบ้างประโคมในงานศพบ้าง ลักษณะของฆ้องมอญจะมีรูปทรงโค้งขึ้นไปทั้งสองข้าง มีลวดลาย ตกแต่งสวยงาม มีลูกฆ้อง 15 ลูก ดำเนินทำนองเพลง และทำหน้าที่เหมือนฆ้องวงใหญ่ของไทย

ฆ้องมอญวงเล็ก
ประดิษฐ์ขึ้นตามแบบอย่างฆ้องวงเล็ก แต่ให้มีรูปทรงเหมือนฆ้องมอญ มีลูกฆ้อง 18 ลูก ดำเนินทำนองเพลง และทำหน้าที่แปรลูกฆ้องเหมือนฆ้องวงเล็กของไทย
เครื่องประกอบจังหวะ ได้แก่ ตะโพน กลองทัด กลองสองหน้า ฉิ่ง ฉาบ กรับ โหม่ง กลองแขก โทน-รำมะนา กลองชาตรี
ตะโพน
เป็นกลองสองหน้า หน้าหนึ่งใหญ่ และ อีกหน้าหนึ่งเล็ก หน้าใหญ่เรียกว่า หน้าเท่ง หน้าเล็กเรียกว่าหน้ามัดใช้ตีกำกับจังหวะ หน้าทับต่างๆ ของเพลงไทยในวงปี่พาทย์ ตะโพนสามารถตีได้ ถึง 12 เสียง
                                                                         
กลองสองหน้า  มีรูปร่าง เหมือนเปิงมาง กลองชนิดนี้ สร้างขึ้นเลียนแบบเปิงมาง แต่มีขนาดใหญ่กว่า ใช้ตีกำกับจังหวะในวงปี่พาทย์แทนตะโพน  เพื่อใช้ประกอบการขับเสภา เริ่มใช้มาตั้งแต่ สมัยรัชกาลที่ 2
กลองทัด  เป็นกลองที่ชาวไทยทำขึ้นใช้แต่เดิมมีขนาดใหญ่ที่สุดในวงปี่พาทย์กลองชนิดนี้เป็น  กลองสองหน้าขึงด้วยหนัง ตัวกลองทำด้วยไม้ เนื้อแข็ง ข้างกลองมีห่วงสำหรับแขวนหรือตั้ง ขาหยั่ง 1 ห่วง เวลาตีใช้ตีเพียงหน้าเดียว ไม้สำหรับใช้ตีเป็นไม้รวก 2 ท่อน

รำมะนา
เป็นกลองหน้าเดียว มี 2 ชนิด รำมะนามโหรี ขนาดเล็กใช้ตีกำกับจังหวะในวงเครื่องสาย และวงมโหรี โดยใช้ตีคู่กับ โทน รำมะนาลำตัด ขนาดใหญ่ไทยได้แบบอย่างมาจากชวา ในสมัย รัชกาลที่ 5 ใช้ประกอบ การแสดงลำตัด
กลองชนะ
รูปร่างเหมือนกลองมลายู แต่สั้นกว่า แต่เดิมใช้ตีเป็นจังหวะในการฝึกเพลงอาวุธ จึงเรียกกลองชนิดนี้ว่า กลองชนะ  เพื่อเป็นมงคล ในสมัยต่อมาใช้ตีเป็นเครื่อง ประโคมในขบวนเสด็จพยุหยาตรา
กลองแขก
รูปร่างเป็นทรงกระบอก ชุดหนึ่งมี  2 ลูก ลูกหนึ่งเสียงต่ำ เรียก “ตัวเมีย”อีกลูกหนึ่ง เสียงสูง  เรียก “ตัวผู้” ใช้ตีด้วยฝ่ามือ ใช้ตีกำกับในวงปี่พาทย์ และใช้แทนโทน-รำมะนา ในวงเครื่องสายได้อีกด้วย
กลองมลายู รูปร่างเหมือนกลองแขก แต่ สั้นกว่า  ไทยนำมาใช้ในขบวนแห่ ต่อมาใช้ตีประโคมศพโดยจัดเป็นชุด ชุดหนึ่งมี 4 ลูก ภายหลังได้ลดลงเหลือเพียง 2 ลูก เพื่อใช้บรรเลงคู่กันเหมือน กลองแขกในวงปี่พาทย์
กลองชาตรี รูปร่างของกลองชาตรีเหมือนกลองทัด แต่รูปร่างเล็กกว่ามาก ใช้บรรเลงร่วมใน วงปี่พาทย์ชาตรี กลองนี้เรียกตามเสียง ที่ตีอีกอย่างหนึ่งว่า “กลองตุ๊ก”
กลองยาว เป็นกลอง หน้าเดียว มีสายสำหรับสะพาย คล้องคอ ใช้มือตี เพื่อความสนุกสนาน ผู้เล่นอาจใช้กำปั้น ศอก เข่า ศรีษะ ฯลฯ เราได้แบบอย่างการตีกลองยาวมาจากพม่าสมัยที่พม่าเข้ามาตั้งแต่ค่ายเพื่อทำสงครามกับไทย
มโหระทึก เป็นกลองชนิดหนึ่งแต่เป็นกลองหน้าเดียว หล่อด้วยโลหะผสมทองแดง ตะกั่ว ดีบุก กว้าง 65 เซนติเมตร สูง 53 เซนติเมตร ก้นกว้าง 70.5 เซนติเมตร เอว 50 เซนติเมตร คอดเป็นมโหระทึก ใช้ในพระราชพิธี และ กระทำกิจของสงฆ์
ฉิ่งเป็นเครื่องตีกำกับจังหวะ ทำด้วยโลหะ รูปร่างกลม เว้ากลาง ปากผาย คล้ายฝาขนมครก ไม่มีจุกสำรับหนึ่งมีสองฝาเจาะรูตรงกลางที่เว้า  สำหรับร้อยเชือกโยงฝาทั้งสอง เพื่อสะดวกในการถือตี ฉิ่งมีสองขนาด ขนาดใหญ่ใช้ประกอบวงปีพาทย์ ขนาดเล็ก ใช้กับวงเครื่องสายและมโหรี
ฉาบ
เป็นเครื่องตีกำกับจังหวะ ทำด้วยโลหะ  รูปร่างคล้ายฉิ่ง แต่ มีขนาดใหญ่กว่าและ หล่อบางกว่า มีสองขนาด ขนาดใหญ่กว่าเรียกว่า  ฉาบใหญ่ ขนาดเล็กกว่า เรียกว่า ฉาบเล็ก การตีจะตีแบบประกบ และตีแบบเปิดให้เสียงต่างกัน
กรับพวง ทำด้วยไม้หรือโลหะ ลักษณะเป็นแผ่นบาง หลายแผ่นร้อยเข้าด้วยกัน ใช้ไม้หนาสองชิ้นประกบไว้ ลักษณะคล้ายพัดกรับเสภา ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง ลักษณะเป็นแท่งสี่เหลี่ยม มีสันมน

เครื่องเป่า
เครื่องเป่า เป็นเครื่องดนตรีที่ทำให้เกิดเสียงจากลมเป่า อุปกรณ์ดังเดิมได้จากพืช ได้แก่หลอดไม้ต่าง ๆ และจากสัตว์ ได้แก่ เขาสัตว์ต่างๆ ต่อมาได้มีวิวัฒนาการด้วยการเจาะรูและทำลิ้น เพื่อให้เกิดระดับเสียงได้มาก เช่น  ขลุ่ย ปี่
ปี่ เป็นเครื่องดนตรีที่มีมาแต่โบราณ มีลักษณะ  และวิธีการเป่าที่เป็นเอกลักษณ์ทั้งยังเลียนเสียงคำพูดของคนได้ชัดเจน  และใกล้เคียงที่สุด ปี่ที่กล่าวมานี้ มี 3 ชนิด คือ ปี่ใน  ปี่กลาง  และปี่นอก มีรูปร่างเหมือนกัน ต่างกันที่ขนาด

ปี่ใน มีขนาดใหญ่ ใช้ บรรเลง ในวงปี่พาทย์ไม้แข็ง  และประกอบการแสดงโขน ละคร


ปี่กลาง มีขนาดกลาง ใช้ บรรเลง ในวงปี่พาทย์ไม้แข็ง  และประกอบการแสดงโขน หนังใหญ่ ซึ่งแสดง กลางแจ้ง


ปี่นอก มีขนาดเล็ก่ใช้ บรรเลง ใน วงปี่พาทย์ไม้แข็ง (ปัจจุบันไม่นิยมนำมาประสมวง)  และวงปี่พาทย์ชาตรี ประกอบ
ละครชาตรี  โนรา หนังตะลุง


ปี่ชวา เดิมเป็นของชวา ตัวปี่มี 2 ท่อน ท่อนบนเรียกเลาปี่  ท่อนล่างเรียกลำโพง ทำด้วยไม้ หรืองาช้าง ปี่ชวา มีเสียงแหลมดัง ใช้เป่าคู่กับกลองแขกเรียกวงปี่กลองแขก ใช้ประกอบการแสดงกระบี่กระบอง และการชกมวยไทย ประสมกับกลองมลายูเรียกว่า วงปี่กลองมลายู และวงบัวลอยนอกจากนี้ยังประสม ในวงปี่พาทย์นางหงส์ และวงเครื่องสายปี่ชวา


ปี่มอญ เป็นปี่ของชาวรามัญ ประกอบด้วยเลาปี่ และลำโพงปี่ทำด้วยทองเหลืองทั้ง 2 ส่วนนี้ สอดสวมกัน หลวมๆ มีเชือกผูกโยงมิให้หลุดจากกัน  ปี่มอญมีเสียงโหยหวน  ฟังแล้วชวนให้เกิดอารมณ์เศร้า ใช้ประสม ในวงปี่พาทย์มอญ และ บรรเลงประกอบใน การฟ้อนของภาคเหนือ

ปี่ซอ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าปี่จุม  เป็นเครื่องดนตรีพื้นเมืองภาคเหนือทำด้วยไม้รวกมีหลายขนาดแตกต่างกันไปประสมในวงปี่ซอ และบรรเลงร่วมกับวงดนตรีพื้นเมืองอื่นๆของภาคเหนือปี่ซอเมื่อบรรเลงรวมเป็นวงปี่ซอจะมี 4 เล่ม คือ ปี่แม่ ปี่กลาง ปี่ก้อย และปี่เล็ก
ขลุ่ย เป็นเครื่องเป่าดั้งเดิมของไทย เหตุที่เรียกว่า “ขลุ่ยสันนิษฐานว่าเรียกตามเสียงที่ได้ยิน ปกติ ขลุ่ยจะทำด้วยไม้รวกปล้องยาวๆ ไว้ข้อทางส่วนปลาย  วัสดุอื่นที่นำมาแทนมีงาช้าง ไม้จริง ท่อเอสลอน ขลุ่ยเลาหนึ่งมีรูสำหรับนิ้วปิดเปิดเพื่อเปลี่ยนเสียง 7 รู มีดากปิดส่วนบนสำหรับเป่าลมตอนล่างมีรูปากนกแก้ว และนิ้วค้ำ
ขลุ่ยอู้ เป็นขลุ่ยขนาดใหญ่ที่สุดใช้ประสมวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ เป็นต้นขลุ่ยอู้ เป็นขลุ่ยที่มีขนาดใหญ่มีความยาวประมาณ 60 เซนติเมตร กว้างประมาณ 4 เซนติเมตร เสียงต่ำกว่าขลุ่ยเพียงออสามเสียง คือปิดหมดทุกรูเป็นเสียงซอล นิยมใช้ในเครื่องปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ ซึ่งเป็นดนตรีที่มีระดับเสียงต่ำ แต่ในปัจจุบันไม่ค่อยได้ใช้เนื่องจากหาคนที่มีความชำนาญในการเป่าได้ยาก

ขลุ่ยเพียงออ เป็นขลุ่ยขนาดกลาง ใช้ประสมในวงปี่พาทย์ไม้นวม วงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ วงเครื่องสายปี่ชวา วงเครื่องสาย วงมโหรี เป็นต้นขลุ่ยเพียงออ เป็นเครื่องดนตรีไทย ประเภทเครื่องเป่าชนิดไม่มีลิ้น ทำจากไม้รวกปล้องยาวๆ ด้านหน้าเจาะรูเรียงกัน สำหรับปิดเปิดเพื่อเปลี่ยนเสียง ตรงที่เป่าไม่มีลิ้นแต่มีดาก ซึ่งทำด้วยไม้อุดเหลาเป็นท่อนกลมๆยาวประมาณ ๒ นิ้ว สอดลงไปอุดที่ปากของขลุ่ย แล้วบากด้านหนึ่งของดากเป็นช่องสี่เหลี่ยมเล็กๆ เราเรียกว่า ปากนกแก้ว เพื่อให้ลมส่วนหนึ่งผ่านเข้าออกทำให้เกิดเสียงขลุ่ยลมอีกส่วนจะวิ่งเข้าไปปลายขลุ่ยประกอบกับนิ้วที่ปิดเปิดบังคับเสียงเกิดเป็นเสียงสูงต่ำตามต้องการไตปากนกแก้วลงมาเจาะ ๑ รู เรียกว่า รูนิ้วค้ำ

ขลุ่ยหลิบ หรือ ขลุ่ยหลีกเป็นขลุ่ยขนาดเล็ก แต่ใหญ่กว่าขลุ่ยกรวด ใช้ประสมในวงเครื่องสาย วงมโหรีและวงเครื่องสาย ปี่ชวา เป็นต้น ขลุ่ยหลิบ เป็นขลุ่ยที่มีขนาดเล็กที่สุดในบรรดาขลุ่ยไทยมีความยาวประมาณ 25 เซนติเมตร มีเสียงสูงกว่าขลุ่ยเพียงออเป็นคู่สี่ คือปิดหมดทุกนิ้วเป่าเป็นเสียงฟา นิยมใช้เป่าในวงมโหรีเครื่องคู่ เครื่องใหญ่ และวงเครื่องสายคู่ โดยเป็นเครื่องนำในวงเช่นเดียวกับระนาด หรือซอด้วง นอกจากนี้ยังใช้ในวงเครื่องสายปี่ชวา โดยบรรเลงเป็นพวกหลังเช่นเดียวกับซออู้

ขลุ่ยเคียงออ
ขลุ่ยเคียงออ หรือ ขลุ่ยกรวด เป็นขลุ่ยที่มีขนาดใหญ่กว่าขลุ่ยหลิบแต่เล็กกว่าขลุ่ยเพียงออ มีความยาวประมาณ 40 เซนติเมตร กว้างประมาณ 2.2 เซนติเมตร ระดับเสียงสูงกว่าขลุ่ยเพียงออหนึ่งเสียง แต่ในปัจจุบันไม่ค่อยนิยมมากนัก
 ขลุ่ยรองออ
ขลุ่ยรองออ เป็นขลุ่ยที่มีขนาดใหญ่กว่าขลุ่ยเพียงออและมีระดับเสียงต่ำกว่าหนึ่งเสียง อาจจะใช้ในวงมดหรีแทนขลุ่ยเพียงออในกรณีที่เต้องการเสียงต่ำ
 ขลุ่ยออร์แกน
ขลุ่ยออร์แกน เกิดขึ้นเนื่องจากในระยะหลังวงเครื่องสายได้นำเอาเครื่องดนตรีตะวันตกเข้ามาร่วมเล่นด้วย ซึ่งเรียกว่าวงเครื่องสายผสม เช่น เล่นผสมกับเปียโนหรือออร์แกน เป็นต้น
ขลุ่ยนก
ขลุ่ยนก ขลุ่ยชนิดนี้ใช้เป่าเป็นเพลงไม่ได้ เพราะมีเสียงไม่ครบเสียงดนตรี จึงใช้เป่าเป็นเสียงนกประกอบเพลงที่มีเสียงนก เช่น เพลงตับนก แม่ศรีทรงเครื่อง เป็นต้น